25630904pm--ใจไม่ทุกข์เมื่อเจอผัสสะ

Published: Sept. 6, 2020, 4:42 a.m.

4 ก.ย. 63 - ใจไม่ทุกข์เมื่อเจอผัสสะ : มีธรรมหมวดหนึ่งที่น่าสนใจ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมหมวดนี้คือข้อปฏิบัติเพื่อการละอาสวะ อาสวะเป็นคำที่เราได้ยินบ่อย ถ้าเราสนใจศึกษาอ่านธรรมะของพระพุทธเจ้า อาสวะแปลว่ากิเลส เครื่องหมักหมม นอนเนื่องเป็นสันดานก็ได้ หรือจะแปลว่าความเดือดร้อนหรือความทุกข์ก็ได้ หรือว่าจะแปลว่าเป็นข้อปฏิบัติเพื่อการละความเดือดร้อน ความทุกข์ หรือว่ากิเลสก็ได้ มี 7 ข้อ

ข้อ 1 ก็คือ ละด้วยทรรศนะ ทรรศนะในที่นี้คือความเห็น หรือการเห็นด้วยปัญญา อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยง เห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งหลายทั้งปวงเป็นทุกข์ เห็นด้วยปัญญาว่าธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเหนื่อยหน่ายในสิ่งที่เป็นทุกข์ที่ตนหลง นั่นแหละเป็นทางแห่งพระนิพพานอันเป็นธรรมหมดจด ทรรศนะนี้คือเห็น เห็นด้วยปัญญา จนกระทั่งไม่ยึดติดถือมั่นในสิ่งใด   ข้อที่ 2 ละด้วยความสำรวมอินทรีย์หรืออินทรีย์สังวร อินทรีย์สังวรเป็นคำที่สำคัญ คือการสำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ที่ว่านี้คืออินทรีย์ 6 ตาหูจมูกลิ้นกายใจ แต่ความหมายจริงๆคือการรักษาใจ ไม่ให้บาปหรืออกุศลครอบงำจิต เมื่อเกิดผัสสะขึ้น ไม่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่สำรวมตา สำรวมหู แต่ว่าเป็นการรักษาใจ ไม่ให้รูปที่เห็นทางตา เสียงที่ได้ยินทางหู เป็นต้น มาทำให้เกิดบาปหรืออกุศลธรรม เกิดความทุกข์ในใจ อินทรียสังวรซึ่งที่จริงก็คือละด้วยสตินั่นแหละ   อันที่ 3 ละด้วยการเสพหรือการใช้สอย ก็ละอาสวะได้ การเสพ ใช้สอย เช่นการกินอาหาร หรือว่าการใช้สอยปัจจัย 4 มันช่วยบรรเทาความทุกข์ได้ และก็บรรเทากิเลสได้ด้วย เพราะว่าถ้าหิว นอกจากจะเกิดทุกข์แล้วก็จะเกิดกิเลสด้วย อย่างที่เรียกว่าโมโหหิว พอหิวแล้วก็เกิดโทสะ แล้วก็อาจจะเกิดโลภะตามมาอยากขโมย ไม่มีเงินก็ต้องขโมย อันนี้ก็เกิดตัณหา แต่ถ้าได้เสพ ได้กิน โมโหหิวก็หมดไป โลภะหรือว่าตัณหาที่จะหมายไปฉกชิงหรือขโมยอาหารของผู้ใดก็ยุติลง เพราะฉะนั้นการเสพการใช้สอยละอาสวะได้   ข้อที่ 4 การละด้วยการละเว้นหรือว่าหนีห่าง เช่น มีอันตรายอยู่ข้างหน้า เช่น น้ำเชี่ยว หรือว่าไฟไหม้ เราก็ถอยห่าง ตรงไหนที่เป็นป่ารกชัฏ มีงูเงี้ยวเขี้ยวขอ อันนี้ก็เกิดอาสวะได้ ก็หลีกหนี ถอยห่าง จากมัน อันนี้เราก็เป็นสิ่งที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกับ การละด้วยการใช้สอย หรือการเสพ อันนี้ก็เป็นธรรมะ การละด้วยการใช้สอยด้วยการเสพเป็นธรรมะ ละด้วยการหลีกเร้น การถอยห่าง การหนีห่าง ก็เป็นธรรมะไม่ใช่เป็นเรื่องยากหรือลึกซึ้ง ซึ่งเราก็ทำอยู่บ่อย ๆ   ประการต่อมา ละด้วยความอดกลั้น แดดร้อนก็อดกลั้น หนาวก็อดกลั้น ไม่ปล่อยให้ใจมันบ่นโวยวายตีโพยตีพาย ใครมาด่าก็อดกลั้นเอาไว้ รวมทั้งหิวด้วย ก็อดกลั้นเอาไว้ อันนี้เรียกว่าละด้วยขันติก็ได้ ประการต่อมา ละด้วยการบรรเทา บรรเทาความโกรธ บรรเทาความเกลียด ต้องบรรเทาซะ ถ้าปล่อยให้มัน เผารนจิตใจ กรีดแทงจิตใจ ก็จะทุกข์ ก็ต้องรู้จักบรรเทาเช่น แผ่เมตตาหรือให้อภัย